Table of Contents
โซจู โชจู และสาเก แตกต่างกันอย่างไร?
เครื่องดื่มทั้งสามชนิด เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใช้วิธีการหมักและกลั่นเหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่พื้นที่ที่นิยมดื่ม ปริมาณแอลกอฮอล์ วิธีการดื่ม อาหารที่นำมากินคู่กัน และราคาก็มีความแตกต่างกันนั่นเองค่ะ แต่ถ้าอยากเจาะลึกลงไปอีก เราก็มีความรู้มาฝาก ถึงความแตกต่างของเครื่องดื่มทั้งสามชนิดค่ะ ไปดูกันเลย
โซจู (Soju)
โซจู คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเกาหลี มีสีใส กลิ่นและรสชาติเหมือนวอดก้า ในช่วงก่อนสมัยสงครามเกาหลี โซจูทำมาจากข้าวเป็นหลัก แต่เนื่องจากภาวะสงคราม ข้าวเริ่มหายากขึ้น จึงได้เปลี่ยนวัตถุดิบจากข้าวมาเป็นมันหวาน ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และมันสำปะหลังแทน เดิมทีการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลี แต่เกาหลีได้รับวัฒนธรรมการดื่มนี้มาจากชาวมองโกล และชาวมองโกลก็ได้รับภูมิปัญญาในการกลั่นเหล้ามาจากชาวอิรัก ช่วงต้นศตวรรษที่ 13 ยุคโครยอ โซจูนั้นหายากและมีราคาแพง เพราะมีการผลิตที่ยุ่งยาก จึงเป็นเครื่องดื่มสำหรับคนชนชั้นสูงเท่านั้น
แต่ในช่วงปีค.ศ. 1919 เกาหลีก็ได้ตั้งโรงงานผลิตโซจูเป็นครั้งแรกที่เมืองพยองยาง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โซจูกลายเป็นเครื่องดื่มที่เข้าถึงกลุ่มคนชนชั้นอื่นนอกจากชนชั้นสูง และหลังจากตั้งโรงงานโซจูเป็นครั้งแรกก็มีโรงงานที่ผลิตโซจูเพิ่มขึ้น โซจูจึงมีราคาที่ถูกลง และเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้ กระบวนการทำโซจู เริ่มจากการเอามันหวาน ข้าวโพด ข้าวหรือมันสำปะหลัง ไปต้มหรือนึ่งให้สุก แล้วนำมาหมักกับหัวเชื้อที่เรียกว่า “นูรุก” เพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์ หลังจากนั้นนำมากลั่นให้ออกมาเป็นแอลกอฮอล์ที่ใส ไม่มีสี
ในปัจจุบันนี้ แบรนด์ต่าง ๆ ก็ปรับรสชาติให้ดื่มง่ายขึ้น โดยการใส่กลิ่นผลไม้ลงไป เป็นโซจูรสพีช โซจูรสส้ม โซจูรสองุ่น โซจูรสโยเกิร์ต และมีอีกหลากหลายสูตร หลากหลายรูปแบบออกมา นอกจากใส่กลิ่นเพิ่มแล้ว ก็ยังนำไอดอลมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ทำให้โซจูมีภาพลักษณ์ที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัยอีกด้วย โซจู 1 ขวด มีปริมาณแคลลอรี่อยู่ที่ 250 – 280 กิโลแคลอรี่ และมีปริมาณแอลกฮฮอล์อยู่ที่ 20 – 34 % แต่ถ้าเป็นโซจูกระป๋องรสผลไม้ ปริมาณแอลกอฮอล์จะอยู่ที่ 14 – 16 % เท่านั้นค่ะ
นุรุก จุลินทรีย์ที่ใช้หมักโซจู ส่วนสำคัญในกระบวนการหมักที่ขาดไม่ได้เลย คือจุลินทรีย์ในการหมักนั่นเองค่ะ ซึ่งจุลินทรีย์หรือ “นูรุก” ที่ใช้ในการหมักโซจูนั้น ทำมาจากข้าวสาลีที่บดและอัดในพิมพ์สี่เหลี่ยมหรือวงกลม แล้วนำไปทิ้งไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยวางไว้บนกองฟางหรือหญ้า ในระหว่างนี้ เชื้อรา Aspergillus oryzae, Rhizopus oryzae และยีสต์ จำพวก Saccharomyces, Saccharomycopsis และ Pichia จะเจริญเติบโตขึ้น ก้อนนุรุกจะแห้งและมีลักษณะแข็ง ด้านนอกจะมองไม่เห็นเชื้อรา แต่ถ้ากระเทาะดูข้างในแล้วจะเห็นเป็นเส้นใยสีเหลือง ๆ ถ้ามีเส้นใยแปลว่าก้อนนูรุกสามารถนำไปใช้ได้ นอกจากข้าวสาลีแล้วก็ยังสามารถใช้ข้าวบาร์เลย์ และข้าวในการหมักให้เกิดเชื้อราก็ได้
วัฒนธรรมในการดื่มโซจู
ส่วนใหญ่คนเกาหลีมักดื่มโซจูพร้อมกับมื้ออาหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดื่มให้หลากหลายมากขึ้น เช่น
- ดื่มเพียว ๆ แบบไม่แช่ หรือแบบแช่เย็น ปกติแล้วมักกินคู่กับอาหาร
- ดื่มแบบผสมเบียร์ เรียกว่า โซแมก (มาจากคำว่า โซจู + แมกจู ที่แปลว่าเบียร์)
- ดื่มแบบผสมเป็นค็อกเทล ส่วนผสมหลัก ๆ คือ สไปร์ท โซดา มะนาว ยาคูลท์ ฯลฯ
อาหารที่มักกินคู่กับโซจู
อาหารที่มักกินคู่กับโซจู มีด้วยกันหลากหลาย แต่ที่คนเกาหลียกให้เป็นอาหารที่ต้องกินคู่กับโซจู คือ
- หมูย่างเกาหลี
- ซุนแด หรือไส้กรอกเลือด
- โอเด้ง และต๊อกบกกี
- โบซัม หรือหมูสามชั่นนึ่ง กินกับกิมจิและผัก
- เต้าหู้กิมจิ เต้าหู้สด หั่นเป็นชิ้น ๆ และกิมจิผักกาดขาว
- คัมจาทัง หรือ แกงเผ็ดมันฝรั่ง
- ปลาดิบ
- จกบัล หรือ ขาหมูตุ๋น
- แมอุนทัง หรือ แกงเผ็ดใส่ปลาทะเล
- มาม่าเกาหลี
สรุปแบบง่าย ๆ
- กระบวนการ : ใช้การหมักและนำมากลั่น
- ลักษณะภายนอก : สีใส มีกลิ่นแอลกอฮอล์
- รสชาติ : บาดคอ หวานเล็กน้อยที่ปลายลิ้น
- ประเทศที่นิยมดื่ม : เกาหลี
- ปริมาณแอลกอฮอล์ : 14 – 34%
- โซจู 1 ขวดกี่แคล : 250 – 280 กิโลแคลอรี่
- ราคา : เริ่มต้นที่ 140 บาท
โชจู (Shochu)
การกลั่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศญี่ปุ่นนั้น นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ได้รับวัฒนธรรมมาจากการค้าขายกับชนชาติอื่น อย่างเช่น จากชาวเปอร์เซีย จีน และเกาหลี ในช่วงศตวรรษที่ 16 ต้นกำเนิดของโชจูนั้น มาจากจังหวัดคาโกชิมะ เกาะคิวชู โดยมีหลักฐานเป็นภาพเขียนสลักบนไม้ ปีค.ศ. 1559 ในศาลเจ้าในเมืองโอกุชิ จังหวัดคาโกชิมะ ในสมัยก่อนโชจูถือเป็นสิ่งล้ำค่าเหมือนกัน เนื่องจากทำจากข้าวและอ้อย ซึ่งมีราคาแพง และคนมักจะนำโชจูจ่ายเป็นค่าแรงสำหรับแรงงานที่ทำงานดี หรือนำไปเป็นของบรรณาการล้ำค่าให้กับพวกขุนนาง หรือโชกุน หลังจากที่มีคนนำมันหวานจากอเมริกาใต้มาปลูกที่เกาะคิวชูในปี ค.ศ.1705 ก็ทำให้ญี่ปุ่นใช้มันหวานเป็นวัตถุดิบหลักในการหมักโชจู และทำให้โชจูมีราคาที่ถูกลง ในสมัยก่อนคนมักจะมองว่าโชจูคือเครื่องดื่มสำหรับคนสูงอายุ แต่ในปัจจุบันโชจูเป็นเครื่องดื่มที่นิยมของคนทุกเพศทุกวัยในประเทศญี่ปุ่น โชจูนั้นเป็นเหล้าใสคล้าย ๆ กับโซจู วิธีการและกระบวนการทำคล้าย ๆ โซจู แต่แตกต่างตรงที่โชจูจะนิยมดื่มในญี่ปุ่นมากกว่า และวัตถุดิบ จุลินทรีย์ที่นำมาใช้หมักไม่เหมือนกัน โชจู ใช้ “โคจิ” เป็นสารจุลินทรีย์ในการหมัก วัตถุดิบหลัก ๆ ที่นำมาหมักโชจู ได้แก่ มันหวาน, ข้าวบาร์เลย์, บัควีท, และอ้อย ชื่อเรียกของโชจูก็แตกต่างกันตามวัตถุดิบที่เอามาใช้ทำด้วย เช่น โชจูที่หมักมาจากมันหวาน เรียกว่า อิโมะ, โชจูที่หมักจากข้าวบาร์เลย์หรือมอลต์ เรียกว่า มูกิ, โชจูที่หมักจากข้าว เรียกว่า โคเมะ, โชจูที่หมักจากบัควีท เรียกว่า โซบะโชจู เป็นต้น โชจูจะมี 2 แบบ แบบกลั่นรอบเดียว เรียกว่า Honkaku Shochu และแบบกลั่น 2 รอบ เรียกว่า Korui Shochu การกลั่นแบบครั้งเดียว จะช่วยคงกลิ่นและรสชาติดั้งเดิมได้ ส่วนการกลั่นแบบสองรอบจะทำให้กลิ่นอ่อนลง และมีความเบามากกว่า เหมาะสำหรับนำไปผสมทำเป็นเมนูค็อกเทล โชจูมีปริมาณแคลลอรี่อยู่ที่ 35 กิโลแคลอรี่ต่อ 2 ออนซ์ และมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ที่ 25 – 30 ดีกรี
โคจิ จุลินทรีย์ที่ใช้หมักโชจู
สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักเหล้า นอกจากโคจิจะใช้ในการหมักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว คนญี่ปุ่นก็นิยมนำไปทำมิโซะ ซอสถั่วเหลืองและนำไปหมักสาเกอีกด้วย วิธีการทำโคจิ เริ่มจากการนำข้าวที่หุงสุกแล้ว มาเพาะสปอร์เชื้อรา ทิ้งไว้ในห้องที่อบอุ่นและชื้น เป็นเวลา 5-7 วัน โดยราที่ทำให้เกิดโคจินั้นจะกินข้าว และเปลี่ยนจากคาร์โบไฮเดรต เป็นน้ำตาล และผลิตกลูตาเมต โดยเชื้อราที่นำมาทำโคจินั้น คือ Aspergillus Oryzae ที่เหมือนกับโซจู แต่โคจิจะมีสีที่แตกต่างกัน เช่นสีขาว สีเหลือง และสีดำ ซึ่งนูรุกที่ใช้ทำโซจูมีแค่สีเหลืองเท่านั้น
วัฒนธรรมในการดื่มโชจู
คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการดื่มโชจูที่หลากหลายมาก ตามประเภทของโชจู และความชอบ เช่น
- ดื่มแบบเพียว ๆ
- ดื่มกับน้ำแข็ง แบบ On the rock
- ดื่มโดยผสมน้ำเย็นลงไป เรียกว่า mizuwari
- ดื่มโดยผสมกับน้ำอุ่น เรียกว่า oyuwari
- ดื่มโดยผสมกับเบียร์
- ผสมเป็นคอกเทลแล้วดื่ม
อาหารที่มักกินคู่กับโชจู
โชจูนั้น ปกติคนญี่ปุ่นก็จะกินคู่กับอาหารที่แตกต่างประเภทกัน เช่น
- มูกิโชจู จะเหมาะกับอาหารประเภทย่าง
- โคเมะ เหมาะกับอาหารประเภททอด
- โคคุโตะโชจู เหมาะกับอาหารที่มีผักกลิ่นแรง
สรุปแบบง่าย ๆ
- กระบวนการ : ใช้การหมักและนำมากลั่น วัตถุดิบตั้งต้นมีทั้งข้าว ธัญพืช และพืชหัว
- ลักษณะภายนอก : สีใส มีกลิ่นแอลกอฮอล์ ความแรง ความเบา อยู่ที่วัตถุดิบที่นำมาทำ
- รสชาติ : หนักเบา แตกต่างกันตามวิธีการทำและวัตถุดิบ
- ประเทศที่นิยมดื่ม : ญี่ปุ่น
- ปริมาณแอลกอฮอล์ : 25 – 30 ดีกรี
- ราคา : เริ่มต้นที่ 700 บาท
สาเก (Sake)
หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าสาเกนั้น ทำมาจากต้นสาเก แต่จริง ๆ แล้ว สาเก คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หมักจากข้าว มีสีขาวใสไปจนถึงขาวขุ่น เป็นที่นิยมทั้งในเกาหลีแหละญี่ปุ่น โดยทั่วไปแล้ว คนมักจะเรียกสาเกว่า Rice Wine เพราะวิธีการหมักนั้นคล้ายกับเบียร์และไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮฮอล์ชนิดนี้ มีเบสในการหมักคือข้าว นำมาหมักกับ “โคจิ” ให้เป็นน้ำตาล แล้วก็หมักกับยีสต์ต่อจนเกิดเป็นแอลกอฮอลล์ ในภาษาญี่ปุ่น จะเรียกสาเกว่า “เชซุ” และในเกาหลีมีเครื่องดื่มที่คล้าย ๆ กัน เรียกว่า “มักกอลลี” แต่มักกอลลีจะเป็นเครื่องดื่มที่มีสีขาวขุ่นเท่านั้น ในสมัยโบราณ สาเกถูกจำกัดให้ดื่มเฉพาะจักรพรรดิ วัด และศาลเจ้าเท่านั้น เพราะสาเกมักจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา และมักจะดื่มในช่วงที่มีเทศกาลต่าง ๆ เช่นพิธิแต่งงาน การอวยพรปีใหม่ ช่วงศตวรรษที่ 12 – 15 สาเกได้ผลิตในศาลเจ้าชินโต หรือวัดในศาสนาพุทธ และเทคนิคการกลั่นสาเกในปัจจุบันก็ได้พัฒนามาจากช่วงเวลานี้
การดื่มสาเกตามประเพณีโบราณนั้น มักจะเกี่ยวโยงกับช่วงเวลาต่าง ๆ ของปีอีกด้วย คนมักจะดื่มสาเกในฤดูหนาว ขณะที่ดูหิมะตก ดื่มในฤดูใบไม้ผลิ ช่วงที่ดอกซากุระกำลังบาน ดื่มในฤดูฝนเพื่อชะล้างความโชคร้าย ดื่มในฤดูร้อนเพื่อดับกระหายและเพลิดเพลินกับการดูพระจันทร์เต็มดวง เป็นต้น ในปัจจุบันนี้ สาเกกลับมาเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากขึ้น และมีการนำไปทำเป็นค็อกเทลเพื่อให้เข้าถึงคนหลากหลายวัยมากขึ้น สาเกมีปริมาณแคลลอรี่อยู่ที่ 2,339 กิโลแคลลอรี่ต่อ 1 ขวด ( 60 ออนซ์ ) ประเภทของสาเก ก็แบ่งย่อยได้อีก ตามส่วนผสม และการเพิ่มแอลกอฮอล์ลงไป หรือตามวิธีการผลิต โดยการแบ่งชนิดของสาเกตามส่วนผสมและการเพิ่มแอลกอฮอล์
สาเกแบ่งได้ออกเป็น 9 ชนิด คือ
- จุนไมไดกินโจ ใช้ข้าวขัดไม่เกิน 35 – 50% ในการทำ เป็นสาเกที่มีความพรีเมี่ยม และราคาแพงที่สุด เพราะมีอาฟเตอร์เทสที่นุ่ม และมีกลิ่นหอม
- ไดกินโจ คือสาเกที่ใช้ข้าวขัดไม่เกิน 35 – 50% ในการทำ เพิ่มแอลกอฮอล์ในการหมัก
- จุนไมกินโจ คือสาเกที่ใช้ข้าวขัดไม่เกิน 60% ในการทำ ไม่เพิ่มแอลกอฮอล์ในการหมัก
- กินโจ คือสาเกที่ใช้ข้าวขัดไม่เกิน 60% ในการทำ และเพิ่มแอลกอฮอล์ในการหมัก
- จุนไม คือสาเกแบบออริจินอล ที่ใช้ข้าวขัดไม่เกิน 70% โคจิ และน้ำในการหมัก ไม่เพิ่มแอลกอฮอล์ในการหมัก Full Body และแห้งเล็กน้อย
- โทคุเบสึจุนไม ใช้ข้าวเกรดพรีเมี่ยมในการหมัก และมีการขัดมากกว่าปกติ
- ฮนโจโซะ มีความคล้ายคลึงกับจุนไม คือ ที่ใช้ข้าวขัดไม่เกิน 70% โคจิ และน้ำในการหมัก แต่ต่างกันที่เพิ่มแอลกอฮอล์ลงไปเพื่อกลิ่นและรสชาติ
- โทคุเบสึ ฮนโจโซะ เป็นลูกผสมระหว่าง 2 ชนิด และมีการเพิ่มแอลกอฮอล์ลงไป หอมอ่อน ๆ และแห้ง ขึ้นอยู่กับแอลกอฮอล์ที่นำมาเติม
- ฟุสึชุ เป็นสาเกเกรดทั่วไป ที่เหมือนจุนไม ไม่มีการกำหนดเกรดในการขัดข้าว มีการเติมน้ำตาลเข้าไปเพื่อปรับรสชาติ และมีกลิ่นอ่อน ๆ
ในประเทศญี่ปุ่น ข้าวที่นำมาใช้หมักทำเหล้าสาเกมีมากกว่า 80 ชนิด จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นโรงผลิตสาเกหลายแห่งจะตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งที่เป็นน้ำพุธรรมชาติ นั่นก็เพราะว่าคุณภาพของน้ำจากน้ำพุธรรมชาติเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี มีแร่ธาตุผสมอยู่ ทำให้เหมาะต่อการนำมาใช้ในกระบวนการกลั่น แถมเป็นคุณสมบัติของเหล้าสาเกชั้นเลิศอีกด้วย
วัฒนธรรมในการดื่มสาเก
โดยส่วนใหญ่แล้ว สาเกที่มีราคาแพง มักจะถูกเสิร์ฟแบบแช่เย็น และสาเกที่มีราคาถูกกว่า มักจะนำไปอุ่น ก่อนที่จะเสิร์ฟ และสาเกอุ่น จะเสิร์ฟโดยการใส่ขวดที่เรียกว่า “ โทคุริ ” พร้อมกับแก้วที่ใช้สำหรับดื่มสาเกโดยเฉพาะ
อาหารที่มักกินคู่กับสาเก
สาเกมักจะเข้ากันดีกับอาหารญี่ปุ่นแทบทุกอย่าง แต่ก็สามารถเข้ากันได้ดีกับอาหารต่างชาติ และอาหารทะเลด้วย
- ซูชิ
- ราเมน
- เทมปุระ
- ชีส
- หอยนางรม
- กุ้งหวาน
- ไข่ปลา
- หอยเชลล์
- พิซซ่า
สรุปแบบง่าย ๆ
- กระบวนการ : ใช้การหมัก (บางครั้งใช้กลั่น) วัตถุดิบตั้งต้นคือข้าว
- ลักษณะภายนอก : มีตั้งแต่สีใส ไปจนถึงสีขาวขุ่น
- รสชาติ : แตกต่างกันไปตามข้าวที่นำมาทำ และการเติมแอลกอฮอล์ลงไป
- ประเทศที่นิยมดื่ม : ญี่ปุ่น
- สาเก 1 ขวดมีกี่แคล : 2,339 กิโลแคลลอรี่ (60 ออนซ์)
- ปริมาณแอลกอฮอล์ : 15 – 20 ดีกรี
- ราคา : เริ่มต้นที่ 380 บาท
ข้อมูลอ้างอิง Melissa. 2021. The History of Soju and its Modernization [Online] เข้าถึงได้จาก : https://10mag.com/the-history-of-soju-and-its-modernization/ สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2564
Makgeollilab. 2019. What is Nuruk? [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.makgeollilab.com/post/what-is-nuruk สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2564
Read more: เคล็ดลับการปีนเขา-เดินป่าในหน้าร้อน
Maya Aley. 2020. THE HISTORY OF JAPANESE SHOCHU [Online] เข้าถึงได้จาก : https://kanpai.us/history-of-japanese-shochu/ สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2564
Factsanddetails. 2013. SAKE: HISTORY, INGREDIENTS, DIFFERENT KINDS AND MAKING THEM [Online] เข้าถึงได้จาก : http://factsanddetails.com/japan/cat19/sub124/item660.html สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2564
SK LiQUOR. 2019. What is Sake? [Online] เข้าถึงได้จาก : https://skliquor.com/knowledge/what-is-sake/ สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2564